รู้จักเวียดนาม ( ตอนที่ 1 : ประวัติศาสตร์เวียดนาม )
ก่อนจะทำความรู้จักกับประเทศเวียดนาม หรือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ( Socialist Republic of Vietnam ) นั้น ผมอยากจะเกริ่นนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเวียดนามอย่างย่อๆ ให้ได้รู้จักกันสักนิดนะครับ บทความนี้จึงเป็นตอนที่1 ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ประเทศแบบคร่าวๆ สะดวกต่อความเข้าใจในการอ่านโดยใช้เวลาไม่มาก ซึ่งผมเชื่อว่าหากเราได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ความเป็นไปเป็นมาสักนิด จะทำให้เรารู้จักและเข้าใจ ความเป็นประเทศนี้ได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเราชมภาพยนตร์ไตรภาคสักเรื่องนึง หากเราได้ชมภาพยนตร์เฉพาะภาค 2 และ 3 แต่ไม่เคยชมภาค1 มาก่อน ผมเชื่อว่าจะทำให้เราขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในภาพยนตร์ไตรภาคเรื่องนั้นไปอย่างแน่นอน ครับ :) นี่แหละครับความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์
ฮอยอัน ดานัง เวียดนาม
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า คนเวียดนามอาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวตั้งแต่ยุคหิน ( 20,000-12,000 ปี ก่อนศริสตกาล ) โดยมีวัฒนธรรมสำคัญๆ เช่น ซอนวี ( Son Vi ), หัวบินห์ ( Hòa Bình ), บั๊กซอน ( Bac son ) เป็นต้น
จนมาถึงสมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์ ( 1,000 - 1 ปี ก่อนคริสตกาล ) วัฒนธรรม Dong son ( ดองซอน ) เริ่มรู้จักการทำนา , มีระบบชลประทาน คูคลอง, เลี้ยงสัตว์, มีเรือแจว, มีการหลอมโลหะสำริด ( หลักฐานสำคัญคือกลองมะโหระทึกดองซอน ) และพบเหมืองแร่ทางตอนบนของเวียดนาม หลักฐานนี้เองทำให้เป็นที่ยอมรับทางประวัติศาสตร์ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามเป็นผู้ริเริ่มทำสำริดครั้งแรกของโลก ( ไม่ใช่จีน อย่างที่เข้าใจตอนแรก ) ในยุคนี้เอง เริ่มมีการตั้งรัฐขึ้น โดยมีอาณาจักรวานหลาง ( Van Lang ) ปกครองโดยราชวงศ์ฮุง ( Hung ) และภายหลังมีการรวมอาณาจักร ตึก ( Thuc ) และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เอาลัก ( Au Lang ) และมีเมืองหลวงใกล้ๆ กับฮานอยในปัจจุบัน
เวียดนามเหนือถูกราชวงศ์ฮั่น จากจีน เข้ายึดครอง ตั้งแต่ปี 111 ก่อนคริสตกาล จนถึงราชวงศ์ชิง ค.ศ. 907 รวมระยะเวลากว่า 1,000 ปี ด้วยเหตุนี้เอง เวียดนามจึงได้ซึมซับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนเข้ามามากมาย เช่น ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ปรัชญา ความคิด วรรณกรรม การศึกษา จนกระทั่งจีนแตกราชวงศ์ออกเป็น 5 ราชวงศ์ ทำให้เวียดนามสามารถเป็นเอกราชจากจีนได้ จากการรบขับไล่กองกำลังจากจีนได้สำเร็จที่ บริเวณแม่น้ำบักดัง ( Bach Dang River ) ต่อมาจึงได้ตั้งจักรวรรดิ Great Viet ( เวียดอันยิ่งใหญ่ ) แต่จีนก็ได้พยายามกลับมายึดครองเวียดนามอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ต่อมา เวียดนามในสมัยราชวงศ์ลี ได้เข้ายึดอันหนำของอาณาจักรจามปา และเวียดนามกลาง ขยายลงมาสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จนราชวงศ์ลีเริ่มเสื่อมอำนาจลง จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่างตระกูลตริน ( Trinh ) ทางเหนือ และตระกูลเหงียน ( Nguyen ) ทางใต้ แต่สุดท้ายถูกกบฏไตเซิน ( Tay Son ) ตอนกลางเข้ายึดอำนาจตระกูลตริน และเหงียน และรวมเป็นเวียดนามได้สำเร็จในช่วงปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 18
ช่วงเวลาดังกล่าวศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาในเวียดนาม แต่เวียดนามโดยจักรพรรดิมินหมางต่อต้าน โดยการจับกุมและประหารบาทหลวงรวมถึงชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่งผลให้บาทหลวงชาวฝรั่งเศสขอความคุ้มครองจากทางรัฐบาลฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจึงส่งฑูตไปเวียดนามในปี 1856 เพื่อขอตั้งสถานกงสุล เปิดเสรีทางการค้าการเผยแผ่ศาสนา และยุติการปราบปรามชาวคริสต์คาทอลิก แต่ถูกทางเวียดนามปฏิเสธ ทางฝรั่งเศลโดย นโปเลียนจึงส่งทหารเข้าโจมตีเวียดนาม ทั้งทางบกและทางเรือ ส่งผลทำให้เวียดนามพ่ายแพ้และยอมยกดินแดนทางใต้ โดยรอบไซงอน ให้ทางฝรั่งเศส
ภายหลังฝรั่งเศสเข้ายึดเวียดนามอีกหลายเมือง เช่น อันนำ (ทางตอนกลาง) ตังเกี๋ย (ทางตอนเหนือ) สถาบันจักรพรรดิของเวียดนามยังคงอยู่ แต่ถูกจำกัดอำนาจ และมีข้าราชการระดับสูงของฝรั่งเศสหลายคนเข้าบริหาร ซึ่งการยึดครองโดยฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน ในประเทศเวียดนาม เช่น การศึกษา การเพาะปลูก ศาสนา ฯลฯ ประชาชนชาวเวียดนามโดยกลุ่มปัญญาชนที่ได้รับการศึกษามาจากทางตะวันตก ไม่พอใจต่อการเข้ายึดครองของฝรั่งเศส จึงได้ทำการจัดตั้งพรรคชาวเวียดนามหนุ่มนักปฏิวัติขึ้น ( ภายหลังคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน ) โดยขบวนการดังกล่าวคอยต่อต้านฝรั่งเศสเรื่อยมา
ประเทศญี่ปุ่น สามารถพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและทางทหารทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก เริ่มขยายอำนาจ เข้ายึดดินแดนหลายแห่ง และขยายออกไปทางเอเชียตะวันออกและทางใต้ เช่น เข้ายึดเกาหลี แมนจู ทำสงครามกับจีน ภายหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่2 ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมกับเยอรมัน และเข้ายึดเวียดนามเหนือ ไม่นานก็สามารถยึดได้ทั้งหมด แต่หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่2 ในเดือนสิงหาคม 1945 โฮจิมินห์ ผู้นำขบวนการเวียดมินห์ ได้ทำการยึดอำนาจจากจักรพรรดิ์เบ๋าได๋ ได้สำเร็จ (เบ๋าได๋ต้องลี้ภัยไปประเทศฮ่องกง) และประกาศให้เวียดนามเป็นเอกราช เป็นอันสิ้นสุดระบอบจักรพรรดิ์ในเวียดนาม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำสงครามเป็นรูปแบบสงครามเย็น ซึ่งเป็น การต่อสู้ระหว่างแนวคิดโลกเสรี และคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศสมีความต้องการกลับเข้าไปยึดเวียดนามอีกครั้ง โดยมีฐานกำลังอยู่ทางตอนใต้ และได้เชิญอดีตจักรพรรดิเบ๋าได๋ กลับเข้ามาเป็นประมุข จึงเกิดสงครามแบ่งแยกระหว่าง ทางตอนใต้เวียดนามเป็นฝ่ายโลกเสรี และทางเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ เรียกสงครามนี้ว่า "สงครามอินโดจีน ครั้งที่ 1" ( ค.ศ. 1946 - 1954 ) แต่สุดท้ายฝรั่งเศสพ่ายแพ้ไป และส่งผลให้เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือ เวียดนามเหนือปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ และเวียดนามใต้ปกครองโดยประชาธิปไตย ต่อมาเวียดนามใต้มีการเปลี่ยนแปลง เบ๋าได๋หมดอำนาจลง โงดินห์เดียมขึ้นเป็นประธานาธิบดี และนำไปสู่ "สงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2" ในช่วงนั้น ระบบคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปมาก จนสหรัฐและพันธมิตร (รวมถึงไทย) เกรงว่าระบบคอมมิวนิสต์จะขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทั้งหมด จึงส่งทหารเข้าร่วมรบกับเวียดนามใต้ เรียกส่งครามนี้ว่า "สงครามเวียดนาม ( ค.ศ.1965-1975 ) ส่งผลให้สหรัฐสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก ภายหลังจึงปล่อยให้ทางเวียดนามใต้รบเอง แต่สหรัฐสนับสนุนยุทโธปกรณ์ จนในที่สุดเวียดนามเหนือสามารถเอาชนะเวียดนามใต้ได้ และรวมเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว เปลี่ยนชื่อเมืองไซง่อนเป็นโฮจิมินห์ มีเมืองหลวงศูนย์รวมอำนาจ คือฮานอย ( ค.ศ. 1976 )
ภายหลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ทั้งในยุโรป รัสเซีย และจีน ส่งผลให้เวียดนามต้องปฏิรูปประเทศ ( ค.ศ.1986 ) โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ลดการรวมอำนาจเศรษฐกิจศูนย์กลางเป็นการค้าเสรี มีการเปิดประเทศ มีการค้าขายกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงปัจจุบัน
เอาละครับประวัติศาสตร์โดยคร่าวของเวียดนาม ผมขอสรุปไว้เพียงเท่านี้ ซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านพอจะเข้าใจได้บ้างว่า เช่น ทำไมนิสัยใจคอของชาวเวียดนามในปัจจุบันทางตอนเหนือของประเทศจะเป็นอีกแบบ และทางตอนใต้เป็นอีกแบบ ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ในตอนหน้าของเรื่อง "มารู้จักเวียดนาม" จะเป็นข้อมูลปัจจุบันและแผนอนาคตที่เวียดนามจะไป คอยติดตามกันนะครับ :)
Bandid Nimwichaigul
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น