Asean Update เวียดนาม ดาวรุ่งมาแรงแห่งอาเซียน

      Association of South East Asian Nations : ASEAN หรือ ประชาคมอาเซียน ได้เริ่มมีผลทางเป็นทางการแล้วในปี พ.ศ.2559 ซึ่งวันนี้เราจะมาอัพเดท ประเทศที่กำลังเปิดเสรีฯ ทางเศรษฐกิจ อย่างมาก และเป็นที่น่าจับตามองโดยเฉพาะภาคการลงทุน ที่มีเม็ดเงินจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ประเทศเวียดนาม 

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
( Socialist Republic of Vietnam )


      เวียดนาม  เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 - 2558 GDP เติบโตเฉลี่ยถึง 6.4% ต่อปี ( แม้ในขณะที่บางปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ GDP ก็ยังเติบโตมากกว่า 4% ต่อปี ) มีการคาดการณ์โดย IMF (
International Monetary Fund:กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ว่า หลังจากการรวมตัว AEC แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 - พ.ศ.2563 เวียดนามจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยได้ถึง 7.5% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตสูงเป็นลำดับต้นๆ ใน อาเซียน เลยทีเดียว ไม่เฉพาะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เวียดนามยังพยายามพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา แรงงาน กีฬา ฯลฯ เพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายคือ "การเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา" ในปี 2563 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้วางไว้ การเจริญเติบโตนี้ มีหลายๆ ปัจจัยเกื้อหนุน ผมขอสรุปเป็นประเด็นหลักๆ ไว้ 3 ประเด็นดังนี้ครับ 



นาตรัง หรือญาจาง อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม (บริเวณทะเลจีนใต้)
เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ



ฮานอย เมืองหลวง อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
มีประชากรอาศัยประมาณ 7 ล้านคน



1. ทำเลที่ตั้งประเทศอยู่ในทำเลที่ดี

      เพราะเวียดนามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน เรียงเป็นรูปตัว S ทิศเหนือติดจีน ทิศตะวันตกติดประเทศลาว และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออกติดชายฝั่งทะเลยาวถึง 3,444 กม. โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่กล่าวมานี้ มีผลทำให้เวียดนามมีท่าเรือน้ำลึกเป็นจำนวนมาก มีการขนส่งทางเรือที่ดี (ซึ่งการขนส่งทางเรือเป็นการขนส่งที่ต้นทุนถูกมากกว่าทางด้านอื่นๆ) จึงทำให้เวียดนามได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการขนส่ง และการมีทำเลที่ตั้งที่ดีนั้น ทำให้เวียดนามสามารถค้าขาย โดยเฉพาะทางเรือกับตลาดขนาดใหญ่ระดับโลก เช่น จีน ประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และชาติตะวันตก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ได้อย่างสะดวก


      การคมนาคมทางอากาศ ก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าการคมนาคม ทางถนน และรถไฟ ต้องใช้เวลาในการสร้างใหม่และพัฒนาอีกสักระยะก็ตาม แต่หากได้มีการพัฒนาการคมนาคมดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถเชื่อมต่อประเทศไทย พม่า และยาวไปถึงอินเดียได้อย่างสะดวก เช่นกัน

โฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีประชากรมากที่สุดในประเทศ 
กว่า 10 ล้านคน



2. ศักยภาพของประชากร

      ประชากรเวียดนามมีประมาณ 88 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจาก อินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ และเป็นอันดับ 13 ของโลก มีอัตราการเติบโตของประชากรเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ประชากรอายุ 15 - 64 ปี ซึ่งเป็นวัยในการทำงาน ที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีสูงถึง 69% อายุเฉลี่ยที่มีจำนวนมากคืออายุ 29 ปี ( ไทย 36 ปี, จีน 37 ปี, ญี่ปุ่น 46 ปี )

      ศักยภาพทางด้าน IQ ของคนเวียดนาม จากการวัด (National IQ Scores โดย http://www.photius.com) เวียดนามมีคะแนนสูงถึง 94 คะแนน เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่สิงค์โปร์ อันดับ 1 ที่ได้ 108 คะแนน ( ประเทศไทยอันดับ 4 ในอาเซียน ได้ 89 คะแนน )

      อัตราความยากจน ( วัดจากรายได้เฉลี่ยที่น้อยกว่าวันละ 1.25 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 41 บาท ต่อวัน ) อยู่ที่ร้อยละ 2.44 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ( ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราความยากจนเวียดนามลดลงถึง 95% )






ภาพประชากรเวียดนาม ในฮานอย


      ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงศักยภาพของประชากรที่สูง บวกกับลักษณะของคนเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ในเรื่องขยัน อดทน และมีหัวการค้าแบบมาผสมผสาน ทำให้ศักยภาพของประชากรเวียดนาม โดดเด่นเป็นอย่างมากในอาเซียน

3. เปิดเสรีและสนับสนุนการค้า

      ถึงแม้เวียดนามจะมีระบอบการปกครองระบบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม แต่เวียดนามก็มีการจัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน ( ตามนโยบาย โด่ย เหมย ) โดยเป้าหมายคือการก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ภายในปี 2563 ปรับระบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบเสรี ส่งเสริมการค้าและการลงทุน มีการปรับปรุงกฏหมายให้เอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศ

      เวียดนามเข้าร่วมเขตการค้าอาเซียน ( AFTA ) เมื่อปี 2539 โดยปรับอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 0-5% ตามเงื่อนไข และเปิดเสรีธุรกิจบริการในปี 2558 ทั้งยังเข้าร่วม สมาชิกองค์การการค้าโลก ( WTO ) เมื่อปี 2550 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ( APEC ) และความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป ( ASEM ) ตามลำดับ


      การส่งออกของเวียดนาม คิดเป็น 80% ของ GDP สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า น้ำมันดิบ อาหารทะเล คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไม้ เครื่องจักรและชิ้นส่วนอุปกรณ์ อัญมณี ยางพารา และข้าว ฯลฯ แต่ในอนาคต การบริโภคภายในจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะจากการคาดการณ์การเจริญเติบโตของคนชั้นกลางจากปัจจุบัน 12 ล้านคน จะกลายเป็น 33 ล้านคนในปี 2020



ดานัง อดีตเมืองหลวงของเวียดนาม 
ปัจจุบันเป็นเมืองท่าที่สำคัญ

      ทั้งนี้ที่ได้กล่าวมา อาจจะมีแต่เพียงข้อดีอย่างเดียว จริงๆ แล้วเวียดนามก็ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาอีกพอสมควร เช่น การขาดแคลนแรงงาน และทักษะ ระดับกลาง เช่น หัวหน้าแผนก ผู้จัดการลำดับต้น , โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ยังต้องลงทุนอีกมาก , ความโปร่งใสในการบริหารทั้งบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีผู้บริหารเป็นระบอบสังคมนิยมเข้าแทรกแซง ( เวียดนามเริ่มแก้ไขกฏหมายอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทฯ ที่จดทะเบียน ได้เพิ่มเป็น 60% จากเดิม 49% เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผลักดันให้เข้าสู่มาตรฐานการทำงานตามกฏเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม และเริ่มปฏิบัติแล้วตั้งแต่ปี 2558  ) , การติดต่อราชการที่มีความยุ่งยาก และกฏระเบียบในแต่ละท้องที่ ที่แตกต่างกัน ตามการปกครองที่มีคณะกรรมการประชาชน ของแต่ละท้องถิ่น , การแทรกแซงค่าเงินดองของรัฐบาล เช่น มาตรการลดค่าเงินดอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล เป็นต้น


By Bandid nimwichaigul (ryanbandid@gmail.com )

ข้อมูลประกอบ จาก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
และ http://www.photius.com/rankings/national_iq_scores_country_ranks.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักกลยุทธ์ ZARA แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก

หมู่บ้านศิลปิน หัวหิน

รู้จักเวียดนาม ( ตอนที่ 1 : ประวัติศาสตร์เวียดนาม )